ในยุคข้าวยากหมากแพง เศรษฐกิจผันผวน โรคภัยระบาดจนยากต่อการควบคุมเป็นตัวกระตุ้นให้เราต้องหาวิธีการเอาตัวรอดอย่างเป็นระบบ การหางานรายได้ดี มั่นคง ทำงานหนักเพื่อให้มีรายได้เพียงพอที่จะดูแลครอบครัวคงไม่สามารถตอบโจทย์ความอยู่รอดได้ทั้งหมด การบริหารจัดการให้เกิดการใช้เงินอย่างคุ้มค่า และเหลือเก็บจึงเป็นโจทย์ที่ต้องหยิบยกมาปัดฝุ่นเรียนรู้และเริ่มต้นปลูกฝัง หล่อหลอมลูกหลานอย่างจริงจังโดยใช้วิกฤตินี้เป็นตัวสร้างโอกาสในการมอบบทเรียนแห่งความประหยัดให้กับเด็ก ซึ่งเราเชื่อว่าการจะพาเด็กเข้าสู่ลักษณะนิสัยของความประหยัดได้นั้นคงไม่ง่ายดั่งจับวาง แต่จะต้องหาเทคนิคที่จะทำให้เด็ก ๆ เรียนรู้ได้ โดยไม่ต้องสอนแบบตรงไปตรงมา เรามี 9 เทคนิคที่จะพาลูกก้าวไปสู่ถนนของความประหยัดไปด้วยกัน
พ่อแม่ปฏิบัติตนเป็นต้นแบบที่ดี เริ่มต้นจากการปฏิบัติตัวของพ่อแม่ทีเปรียบเสมือนผู้นำทางจิตวิญญาณของลูก อะไรก็ตามที่ต้องการสอนให้ลูกทำ พ่อแม่ต้องทำให้เห็นเป็นต้นแบบเพื่อให้เกิดการหล่อหลอม ซึมซับ เป็นการเรียนรู้ในรูปแบบของการเลียนแบบอัตโนมัติโดยที่ลูกไม่รู้ตัวว่ากำลังถูกสอนอยู่ นอกจากนี้ยังหมายรวมถึงผู้ใหญ่ในบ้านที่ใกล้ชิดและดูแลลูก ๆ ด้วย ตั้งแต่ญาติผู้ใหญ่ไปจนถึงพี่เลี้ยงเด็กที่ทุกคนจะต้องให้ความร่วมมือนำเด็กไปในทิศทางเดียวกันซึ่งอาจต้องอาศัยการกำหนดกติกาในการเลี้ยงดูเด็กร่วมกันด้วย
ชวนลูกไปทำงานด้วย พาลูกไปให้เห็นบรรยากาศในการทำงาน ความเหนื่อยยาก ความรีบเร่ง เรื่องทุกข์ สุข ที่พ่อแม่ได้รับด้วยตัวของลูกเอง การสัมผัสบรรยากาศจริงจะทำให้ลูกมีความเข้าใจพ่อแม่ได้ลึกซึ้งกว่าการพร่ำบอกที่บ้าน บรรยากาศเหล่านี้จะช่วยให้เด็กคิดกลั่นกรองอย่างรอบคอบที่จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายพ่อแม่ให้ได้มากที่สุด
ชวนไปช่วยซื้อของ เป็นวิธีการปลูกฝังให้ลูกได้เห็นในส่วนของเส้นทางค่าใช้จ่าย ให้รู้ค่า รู้ราคาของทุกสิ่งของที่จับจ่าย นำสู่วิธีการใช้งานอย่างคุ้มค่า ทะนุถนอมรักษาให้มีอายุการใช้งานสูงสุดโดยที่พ่อแม่ไม่ต้องจ้ำจี้จ้ำไชมากนัก
มอบหมายให้ทำบันทึกค่าใช้จ่ายในบ้าน เทคนิคนี้ให้ฝึกลูกตั้งแต่วัยประถม เริ่มจากการทำบันทึกง่าย ๆ โดยให้เป็นผู้ช่วยพ่อแม่ก่อน จนกระทั่งเริ่มมีความเข้าใจจึงค่อย ๆ เพิ่มระดับความซับซ้อนของตัวเลข และที่มาที่ไปในเส้นทางการเงินของครอบครัว มอบหมายให้ลูกทำหน้าที่สรุปค่าใช้จ่ายประจำวัน ประจำสัปดาห์ ประจำเดือน ทำให้ลูกเห็นเส้นทางรายรับ รายจ่าย และเงินเหลือ รวมถึงโอกาสที่จะเกิดความผิดพลาดเมื่อมีเหตุการณ์ที่อยู่นอกเหนือการควบคุมเกิดขึ้นที่อาจส่งผลกับเส้นทางรายได้ที่เคยมี จากนั้นเปิดโอกาสให้ลูกร่วมวางแผนหาวิธีลดค่าใช้จ่ายเพื่อทำให้มีเงินเหลือมากขึ้นโดยอาจจัดเป็นกิจกรรมแข่งขันระหว่างพี่น้อง หรือระหว่างพ่อแม่ลูก วิธีของใครลดค่าใช้จ่ายได้มากที่สุดได้รางวัล ควรเป็นวิธีการที่วัดผลได้ ควรฝึกทำสม่ำเสมอจนลูกติดเป็นนิสัย หากวันใดตัวเลขเหลือลดลงอย่างมีนัยสำคัญ หรือถึงขั้นติดลบ ลูกจะเร่งคิดหาทางออกได้โดยอัตโนมัติ
สอนให้รู้จักคำว่าผิดหวัง ไม่มีอะไรที่อยากได้แล้วจะต้องได้ไปทั้งหมด ในเรื่องนี้พ่อแม่สามารถสอดแทรกภาวะไม่พร้อมทางการเงิน ทำให้ลูกเห็นว่ารายได้มีความไม่แน่นอน สอนให้ปรับตัวกับสถานการณ์ลำบากในช่วงนั้น ให้รู้จักข่มใจ อดใจ และเรียนรู้เรื่องการรอคอย การป้อนทุกสิ่งที่ลูกอยากได้ เท่ากับเป็นการส่งอาวุธฆ่าลูกให้ตายผ่อนส่ง ลูกควรเรียนรู้ที่จะรู้จักกับความผิดหวัง และต้องเข้าใจด้วยว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้เขาต้องผิดหวัง ชี้แจงทำความเข้าใจให้ชัดเจน เด็กที่เคยเผชิญกับความผิดหวังจะเกิดการเรียนรู้ที่จะเตรียมใจในการขอครั้งต่อไป ซึ่งหากจะต้องผิดหวังอีกครั้งก็พร้อมจะยอมรับได้หากพ่อแม่มีเหตุและผลประกอบได้อย่างสมเหตุสมผล นอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริมให้เค้าคิด และวางแผนการนำเสนอพ่อแม่ได้อย่างเป็นระบบอีกด้วย นำสู่ลักษณะนิสัยของผู้นำในอนาคต
ทั้ง 5 เทคนิคดังกล่าวข้างต้น ล้วนเป็นการสร้างสภาพแวดล้อมในการใช้ชีวิตจริงของลูกเป็นตัวหล่อหลอมความ ประหยัด มีพ่อแม่เป็นเพื่อนคู่เคียงช่วยนำทาง ช่วยเสริมเครื่องมือเรียนรู้ และต่อยอดองค์ความรู้ให้ลูกมีพัฒนาการความประหยัดที่เติบโตขึ้น เครื่องมือเหล่านี้จะนำพาสู่การปลูกสร้างนิสัยประหยัดโดยไม่ต้องบังคับ ไม่เกิดแรงต้าน ไม่มีวันหมดอายุ มันจะฝังตรึงติดตัวลูกไปตลอดกาล